logo

คำถามเกี่ยวกับโรค

โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล

เรื่อง : อารมณ์สองขั้ว / ไบโพล่า

อารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่า (Bipolar disorder) คือ โรคความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งจะมีอาการหลัก 2 อาการ ได้แก่ อารมณ์ซึมเศร้า (Depression) และอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) มักพบว่าคนส่วนใหญ่ที่ป่วยด้วยโรคอารมณ์สองขั้ว มีอาการครั้งแรกระหว่างอายุ 15 -24 ปี ซึ่งมักมีอาการไม่ปรากฏชัด จนบางครั้งคนรอบข้างไม่สามารถสังเกตได้ อาจเริ่มจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง เช่น เที่ยวกลางคืน เตร็ดเตร่ ไม่มีสมาธิเรียน อารมณ์หงุดหงิดขึ้นลง เป็นต้น หรือบางครั้งอาการมักเป็นการก่อปัญหา อาทิเช่น ทะเลาะกับเพื่อน ซึ่งถ้าหากพ่อแม่ไม่ได้ใกล้ชิดกับเด็ก จะเห็นแค่การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยที่เหมือนไม่เปลี่ยนแปลงเลย

ทางการแพทย์ได้แบ่งรูปแบบของโรคอารมณ์สองขั้วออกเป็น 5 ชนิด ดังนี้

ก. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดที่ 1 (Bipolar I disorder): เป็นลักษณะอาการที่อารมณ์ขึ้นลงชัดเจน ซึ่งจะมีอาการอารมณ์ดีมากเกินไป (Mania) อย่างน้อย 7 วันติดต่อกัน และ/หรือมีอาการซึมเศร้า (Depression) ร่วมด้วยเป็นบางระยะ ซึ่งต้องมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ของอาการซึมเศร้า บางครั้งอาจกลับไปอารมณ์ปกติได้แต่มักไม่นาน

ข. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดที่ 2 (Bipolar II disorder): เป็นลักษณะคล้ายชนิดที่ 1 แต่มีความต่างแค่ช่วงที่มีอารมณ์ดีมากเกินไปนั้นจะอยู่ในระดับไม่รุนแรงมากนัก เช่น แค่พลังเยอะ (Hypomania หรือ Milder form of mania)

ค. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดอ่อน (Cyclothymia): เป็นลักษณะอาการอ่อนๆ ของโรคอารมณ์สองขั้ว มักจะเกิดในระยะเวลาสั้นกว่าและรุนแรงน้อยกว่า แต่ละขั้วอารมณ์ที่เกิดมักจะไม่กี่วัน ที่สำคัญจะไม่พบอาการทางจิต (เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน) เกิดขึ้นเลย

ง. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดกลับไปกลับมา (Rapid cycling bipolar disorder): เป็นลักษณะอาการที่อารมณ์ขึ้นลงชัดเจน ซึ่งจะมีอาการอารมณ์ดีมากเกินไป (Mania) หรือดีไม่มาก (Hypomania) และ/หรือ มีอาการซึมเศร้า (Depression or subsyndromal depression) ร่วมด้วยเป็นบางระยะ สลับกันไปมา ทุกอาการเกิดขึ้นในระยะเวลา 1 ปี เป็นชนิดที่ผู้ที่มีอาการอารมณ์สองขั้วเป็นเยอะที่สุดประมาณ 5-15% และมักจะใช้ยาต้านเศร้า (Anti-depressants) ไม่ได้ผลหรือกลับทำให้อาการแย่ลง

จ. โรคอารมณ์สองขั้วชนิดผสม (Bipolar disorder, Mixed): อาการมักจะเกิดซึมเศร้า (Depression) และอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) เกิดขึ้นในเวลาเดียวกันหรือใกล้ๆ กัน ซึ่งมักจะเกิดบ่อยในระหว่างวัน โดยอาการมักจะมีพลังเยอะและซึมเศร้าร่วมกัน โดยผู้ที่มีอาการในกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูง

ก. อารมณ์ซึมเศร้า: อาการมักจะไม่ร่าเริงหรือสนุกสนานเมื่อเทียบกับแต่ก่อน เศร้า แยกตัว เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร ไม่มีเรี่ยวแรง กินไม่ได้ นอนไม่หลับ มีอาการปวดในตำแหน่งต่างๆ ทั่วตัวที่ไม่ทราบสาเหตุ เบื่อๆ เข้าก็รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า เป็นภาระคนอื่น มองโลกในแง่ร้าย โกรธหงุดหงิดง่าย ขาดสมาธิ หลงลืมง่าย ที่สำคัญที่สุดคือ “การคิดฆ่าตัวตาย” หรือ “ทำร้ายตนเอง” โดยอาการดังกล่าวจะเป็นต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์

ข. อารมณ์ดีผิดปกติ (Mania): มักจะเริ่มต้นจากความรู้สึกว่ามี “พลังเยอะ คิดสร้าง สรรค์หลากหลาย เข้าสังคมง่ายเกินไป” ซึ่งพออาการเริ่มหนักขึ้นมักจะมี “อารมณ์ดีเพิ่มขึ้น” ซึ่งมักจะมี “ความมั่นใจในตนเองเกินจริง” และ “หงุดหงิด โวยวายง่าย” ซึ่งคนที่มีอาการอารมณ์ดีเกินไปมักจะ “กระตือรือร้นมากเกินไป พูดมาก เบี่ยงเบนความสนใจง่าย และนอนลดลง” ซึ่งผู้ที่มีอาการมัก “ไม่ค่อยรู้ตัว” ว่ากำลังมีอาการผิดปกติ และรู้สึกสนุกกับทุกสิ่งรอบตัวมากขึ้นกว่าปกติ จนอาการเริ่มมีผลต่อ “การตัดสินใจที่เริ่มผิดพลาด” มีความเสี่ยงสูงทางพฤติกรรม เช่น เที่ยวกลางคืน มีความรู้สึกทางเพศสูง ในกรณีที่อาการหนักมากจะมีอาการทางจิตได้เช่น หูแว่ว ประสาทหลอนได้

ค. อารมณ์เศร้าไม่มาก (Subsyndromal depression): มีอาการอารมณ์เศร้า เบื่อหน่าย จนกระทบต่อชีวิตประจำวัน แต่อาการไม่มากเท่ากับซึมเศร้า (Depression) ช่วงที่เศร้าจะรู้สึกและคิดด้านลบบ่อยๆ สักพักก็จะเปลี่ยนไปเป็นขั้วอารมณ์ดี

ง. อารมณ์ดีผิดปกติไม่มาก (Hypomania): มีอาการอารมณ์ดีผิดปกติแต่ไม่มาก รุนแรงน้อยกว่า และกระทบกับชีวิตประจำวันน้อยกว่า ซึ่งช่วงที่มีอาการจะมีอารมณ์ดีมากขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นอารมณ์ดีผิดปกติ (Mania) ก็มักจะอาการเปลี่ยนเป็นซึมเศร้าก่อน